การวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย
(Body Composition Analysis)
โดย ทีมแพทย์มีดีคลินิก
การออกแบบสุขภาพอย่างตรงจุด ไม่ใช่แค่เพียงการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเท่านั้น แต่ควรทราบถึงค่าองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เพราะจะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ภาวะสุขภาพ ออกแบบและวางแผนการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมน้ําหนัก ปรับโภชนาการ วางแผนการออกกำลังกายและปรับพฤติกรรมสุขภาพอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์ประกอบของร่างกายคืออะไร ?
องค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition) คือ ส่วนประกอบต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ เช่น ไขมัน กล้ามเนื้อ กระดูก โดยธรรมชาติแล้วร่างกายของคนเราควรมีองค์ประกอบเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากอยู่ในเกณฑ์ดีจะบ่งบอกถึงการมีภาวะสุขภาพที่ดี ดังนั้น จึงได้มีการสร้างเครื่องวัดวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกายขึ้นมา เพื่อให้เราสามารถตรวจวิเคราะห์ส่วนต่าง ๆ ออกมาเป็นค่าตัวเลขและนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และประเมินภาวะสุขภาพได้อย่างแม่นยำใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด
ประโยชน์ของการวัดองค์ประกอบของร่างกายคืออะไร ?
การวัดองค์ประกอบของร่างกายมีประโยชน์หลายประการขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ อาทิเช่น
- ใช้ประเมินสัดส่วนของร่างกาย
- ช่วยให้ทราบความสมดุลและความแข็งแรงของร่างกาย
- ช่วยในการประเมินภาวะโภชนาการของร่างกาย
- ทำให้ทราบถึงปริมาณไขมันภายในร่างกาย
- ทำให้สามารถวิเคราะห์ส่วนประกอบของร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
- ใช้ในการวางแผนดูแลสุขภาพและวินิจฉัยความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
องค์ประกอบของร่างกายมีอะไรบ้าง ?
- น้ำหนักมาตรฐาน (Standard Weight) เป็นน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน จะช่วยบอกถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนหรือผอม ใช้วิเคราะห์ควบคู่กับค่าอื่น ๆ ในการประเมินที่แม่นยำมากขึ้น
- น้ำหนัก (Weight) น้ำหนักจริงประกอบไปด้วยไขมัน กล้ามเนื้อ กระดูกและน้ำ ดังนั้น การทราบน้ำหนักเพียงอย่างเดียว จะยังไม่สามารถตัดสินภาวะอ้วนหรือผอมได้ จะต้องอาศัยการประเมินจากสัดส่วนของร่างกายและลักษณะรูปร่างของแต่ละบุคคลด้วย
- เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย (Percentage Body Fat – PBF) บ่งบอกถึงภาวะอ้วนหรือผอมและใช้ในการออกแบบรูปร่างควบคู่ไปกับการพิจารณาค่า BMI โดยตรวจวัดไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Fat) และไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat)
- ระดับไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat Index) ใช้ในการประเมินภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งบ่งถึงความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต
- มวลไขมัน (Body Fat) ร่างกายจะเก็บพลังงานส่วนเกินไว้สำรองในรูปของไขมันทั้งใต้ผิวหนังและไขมันในช่องท้อง แต่หากสะสมไขมันมากเกินไปจนเกิดภาวะอ้วน จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา
- ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index – BMI) เป็นการประเมินสภาวะน้ำหนักโดยอิงกับส่วนสูง ใช้ควบคู่กับการประเมินปริมาณไขมันในร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรคอ้วน เนื่องจากในคนที่มีกล้ามเนื้อเยอะแต่ไขมันไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ก็ไม่ได้บ่งบอกว่ามีภาวะอ้วนเสมอไป
- มวลกล้ามเนื้อ (Muscle / Soft Lean Mass – SLM) เป็นเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย คือ กล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อลาย มีหน้าที่เสริมสร้างความแข็งแรง ช่วยให้มีการยืดหยุ่นไปกับการเคลื่อนไหว คนส่วนใหญ่มีมวลกล้ามเนื้อน้อย เนื่องจากการขาดออกกำลังกายและรับประทานอาหารในกลุ่มโปรตีนไม่เพียงพอ
- น้ำในร่างกาย (Water / Total Body Water – TBW) น้ำหน้าที่ลำเลียงสารอาหาร ออกซิเจนและสารอื่น ๆ รวมทั้งรักษาสมดุลอุณหภูมิภายในร่างกาย ช่วยทำให้เกิดการเผาผลาญไขมันและน้ำตาล การที่ร่างกายสูญเสียน้ำหรือมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบต่อระบบการเผาผลาญได้
- อัตราการเผาผลาญ (Basal Metabolic Rate – BMR) บ่งบอกถึงพลังงานที่ร่างกายต้องการขั้นพื้นฐาน การลดอาหารเพื่อลดปริมาณแคลอรี่ที่รับประทานต่อวัน ควรลดลงไม่เกิน 20-25% ของ BMR และเมื่ออายุมากขึ้น BMR จะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ จึงควรออกกำลังกายให้มากขึ้นหรือเพิ่มกิจกรรมการดูแลรักษาบางอย่างเพื่อเป็นการเพิ่มอัตราการเผาผลาญตามไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการใช้พลังงานและลดปริมาณไขมันในร่างกาย
- อายุร่างกาย (Physical Age / Body Age) ทำให้รู้ว่าร่างกายของเรา ณ ขณะนี้แก่กว่าหรืออ่อนกว่าวัย อายุร่างกายแสดงถึงภาวะสุขภาพโดยรวม เป็นผลมาจากการวิเคราะห์น้ำหนักตัว ปริมาณของไขมันและกล้ามเนื้อ ที่เหมาะสมสำหรับเพศและวัยที่ต่างกัน ถ้าอายุร่างกายสูงกว่าอายุจริง แสดงว่าจะต้องปรับปริมาณไขมันให้ลดลง เพิ่มกล้ามเนื้อโปรตีนและอัตราการเผาผลาญให้ดียิ่งขึ้น จึงจะทำให้อายุร่างกายดีขึ้น
- คะแนนรวมของร่างกาย (Body Index) บ่งบอกถึงภาพรวมของภาวะสุขภาพ ประเมินได้จากค่าต่าง ๆ ที่วัดผลได้รวมกัน ยิ่งคะแนนสูงจะแสดงถึงเกณฑ์สุขภาพโดยรวมที่ดี
- มวลไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat Mass) คือ ปริมาณของไขมันที่อยู่ภายในช่องท้อง ค่านี้อาจจะวัดออกมาเป็นปริมาณโดยรวม
- เส้นรอบเอวหรือเส้นรอบท้อง (Abdominal Circumference – AC) ใช้ประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจะเพิ่มขึ้นเมื่อรอบพุงวัดได้ ผู้ชาย มากกว่า 90 ซม. (36 นิ้ว) ผู้หญิง มากกว่า 80 ซม. (32 นิ้ว)
- เส้นรอบเอวต่อรอบสะโพก (Waist to Hip Ratio – WHR) ชี้วัดถึงโรคอ้วนและความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เมื่อผู้ชาย มากกว่า 0.9 ผู้หญิง มากกว่า 0.8
- เส้นรอบวงต้นแขน (Mid-arm Circumference) บ่งบอกถึงกล้ามเนื้อที่กระชับและไม่กระชับ
- เส้นรอบวงต้นขา (Upper leg Circumference) บ่งบอกถึงการสะสมของไขมันบริเวณต้นขา
นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมายที่ใช้ในการวิเคราะห์ภาวะสุขภาพและใช้ในการติดตามผลสำเร็จของการลดน้ำหนัก การออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพในภาพรวม สามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบสุขภาพ รักษาโรคอ้วน ปรับภาวะโภชนาการ รวมถึงการปรับพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ
เครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกาย คืออะไร
วิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกายต้องอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกาย หรือ Body Composition Analyzer โดยใช้หลักการอ่านค่าจากความต้านทานของกระแสไฟฟ้าต่อเซลล์ในร่างกาย (Bioelectrical Impedance Analysis) ซึ่งเป็นกระแสไฟฟ้าที่ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย
หลักการทำงานของเครื่อง
ใช้กระแสไฟฟ้าต่ำๆ ไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายแล้ววัดความต้านทานต่อการไหลของกระแสในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนที่เป็นกระดูกและไขมันจะนำไฟฟ้าไม่ดีและมีแรงต้านทานต่อการไหลของกระแสไฟฟ้าสูง ในขณะที่เลือด อวัยวะภายในและกล้ามเนื้อจะนำไฟฟ้าได้ดีและมีแรงต้านทานต่ำ จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ส่วนประกอบของร่างกายได้อย่างละเอียด ทั้งในส่วนของมวลกระดูก กล้ามเนื้อ ไขมัน ปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ข้อมูลที่ได้สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ความสมดุลและแข็งแรงของร่างกาย ประเมินภาวะโภชนาการ ทราบถึงปริมาณไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง ตลอดจนวินิจฉัยภาวะสุขภาพโดยรวมได้
ขั้นตอนและวิธีการตรวจ
- ผู้รับบริการขึ้นไปยืนบนเครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกายด้วยเท้าเปล่า (ต้องถอดถุงเท้า/ถุงน่อง)
- พยาบาลจะกดข้อมูลผู้รับบริการที่เครื่อง เพื่อจะประมวลผลเฉพาะบุคคล
- ผู้รับบริการจับแขนของเครื่อง (ตามภาพ) โดยให้หัวแม่มือสัมผัสกับจุดสีดำ (ตามภาพ) และยืนนิ่ง ๆ บนเครื่อง ประมาณ 5 นาที
- เครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกาย จะวิเคราะห์และประมวลผล พร้อมพิมพ์ข้อมูล
- แพทย์/ พยาบาลจะเป็นผู้อ่านผล วิเคราะห์และให้คำแนะนำ
ข้อควรปฏิบัติก่อนทำการตรวจวัด
- เวลาในการตรวจวัดควรเป็นตอนเช้าหลังจากเข้าห้องน้ำขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระเรียบร้อย
- ควรทำการตรวจวัดก่อนเริ่มออกกำลังกาย
- ควรทำการตรวจวัดก่อนเริ่มทำการอาบน้ำ แช่น้ำหรืออบซาวน่า
- ควรยืนนิ่ง ๆ เป็นเวลาประมาณ 5 นาที ก่อนเริ่มทำการตรวจวัด
- ไม่ควรทำการตรวจวัดภายหลังการดื่มน้ำหรือหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ
ขอรับการตรวจ ฟรี คลิ้ก
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ฟรี คลิ้ก