บทความเด่น - สุขภาพ ชะลอวัย ความงาม

ภาวะสุขภาพสตรีกับข้อควรรู้เพื่อเข้าสู่วัยทอง : ศาสตร์สร้างสุขภาพก่อนป่วย (Anti-Aging in Golden Women)

ภาวะสุขภาพสตรีกับข้อควรรู้เพื่อเข้าสู่วัยทอง : ศาสตร์สร้างสุขภาพก่อนป่วย (Anti-Aging in Golden Women)

โดย ทีมแพทย์มีดีคลินิก

ปัญหาสุขภาพของสตรีนั้นมีตลอดทุกช่วงวัย ซึ่งต้องการการปรับตัวและดูแลอย่างเหมาะสมเพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาในระยะต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี ปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคเรื้อรังตามมาอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันตั้งตัว นั่นก็คือ “อาการวัยทอง”

พบบ่อยมากที่สตรีช่วงอายุประมาณ 40 กว่าปี มาพบแพทย์ด้วยปัญหาที่ไม่พบรอยโรค เช่น อาการร้อนวูบวาบตามตัว อารมณ์หงุดหงิดและแปรปรวนง่าย หลงลืมง่าย ขาดสมาธิ เครียด วิตกกังวล ทานอาหารไม่ได้ ซูบผอม นอนไม่หลับ ประจำเดือนลดน้อยลง ห่างออก มาไม่สม่ำเสมอและขาดหายไป อาการผิวแห้ง ริ้วรอย หน้าแห้ง ช่องคลอดแห้ง ปัญหาเพศสัมพันธุ์ ปัญหาติดเชื้อช่องคลอด ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และปัญหาอื่น ๆ เหล่านี้เป็นผลมาจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่ลดลงจากการเสื่อมสภาพและฝ่อลีบของรังไข่ ทำให้ความสามารถในการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงลดลง ผลดังกล่าวจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเรื้อรังบางชนิดที่รุนแรงได้ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับผลกระทบนี้ และระดับความรุนแรงของแต่ละปัญหาอาจมากน้อยแตกต่างกันออกไป หากมีการเตรียมพร้อมทางด้านสุขภาพ รู้ทันและเตรียมการที่จะรับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยลดปัญหาได้มาก ทำให้สตรีวัยทองสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาสำคัญนี้ไปได้

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาวะสุขภาพของสตรีวัยทอง

“สตรีวัยทอง” หรือ สตรีวัยหมดประจำเดือน หมายถึง สตรีในช่วงวัย 40 – 59 ปี ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงเนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวรร่วมด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause) เป็นระยะเริ่มของการหมดประจำเดือนทำให้สตรีมีประจำเดือนมาผิดปกติ ร่วมกับมีอาการทางร่างกาย เช่น ร้อนวูบวาบ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์จะแปรปรวน ซึ่งระยะนี้จะเกิดอยู่ประมาณประมาณ 2-3 ปี
  2. ระยะหมดประจำเดือน (Menopause) เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่การหมดประจำเดือนมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี สัญญาณแห่งวัยเริ่มชัดเจนขึ้น
  3. ระยะหลังหมดประจำเดือน (Postmenopause) เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่ระยะหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ช่องคลอดตีบแคบ กระดูกพรุนและเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ ได้ง่าย

มีรายงานว่าผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนภายในร่างกายจะลดการผลิตลง จึงส่งผลให้ช่วงวัยนี้มีประจำเดือนมาไม่ค่อยแน่นอน อาจจะมีมาแบบถี่บ้างห่างบ้างตามจังหวะการขึ้นลงของระดับฮอร์โมนเพศทางการแพทย์เรียกระยะนี้ว่า “ระยะก่อนหมดประจำเดือน” ผู้หญิงบางคนอาจเริ่มเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ และประจำเดือนมาไม่ปกติ ตามด้วยอาการนอนไม่หลับ มีอาการร้อนวูบวาบตามตัว อารมณ์หงุดหงิดแปรปรวนง่าย ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการของผู้หญิงวัยทองที่หมดประจำเดือนแล้ว สำหรับผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอย่างถาวร ประจำเดือนจะหยุดอย่างแน่ชัดแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งอาจพบได้ในช่วงอายุระหว่าง 40-59 ปี ทั้งนี้ บางรายอาจจะเกิดขึ้นได้เร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์และปัญหาสุขภาพของแต่ละคน ดังนั้น จึงแนะนำให้สตรีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป หมั่นสังเกตภาวะสุขภาพของตัวเองดังนี้

อาการสตรีวัยทองที่ควรสังเกตและรู้ทัน

ถึงแม้ว่าอาการวัยทองอาจพบได้ในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ในสตรีที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ หรือสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปควรหมั่นสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ดังนี้ เพื่อให้ตรวจพบและจัดการกับปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

  1. ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ บางเดือนมาถี่ ๆ แล้วทิ้งห่างไปหลายเดือน จากนั้นอาจจะกลับมาเป็นได้อีก ปริมาณของเลือดที่ออกอาจจะออกมากกว่าหรือน้อยกว่าปกติ
  2. อาการร้อนวูบวาบ พบประมาณ 3 ใน 4 ของสตรีวัยหมดประจำเดือน ยังพบอาการเหงื่อออกมากแม้ยังอยู่ในที่ ๆ มีอากาศเย็น โดยเฉพาะเวลากลางคืนเหงื่อมักจะออกมากเป็นพิเศษ อาการนี้มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วง 2-3 ปีแรกนับจากประจำเดือนหมด และอาการของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนของแต่ละคนก็มักมีความรุนแรงที่แตกต่างกันไป
  3. ปัญหาการนอนหลับ มักมีอาการนอนหลับยากหรือนอนไม่หลับเป็นประจำ และตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อยหรืออาจตื่นเร็วกว่าปกติและไม่สามารถหลับต่อได้
  4. อารมณ์ไม่แน่นอน มีอารมณ์แปรปรวนได้ตลอด หงุดหงิด ใจร้อน โกรธง่าย โมโหง่ายแบบไม่มีเหตุผล บางรายอาจมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย
  5. เกิดปัญหาภายในช่องคลอด เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจึงส่งผลให้เนื้อเยื่อภายในช่องคลอดบอบบาง แคบและสั้นลง การผลิตสารหล่อลื่นและความยืดหยุ่นลดลง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์หรือมีอาการเจ็บๆ แสบคันตามมาได้ เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย เพราะเมื่อช่องคลอดแห้ง สารหล่อลื่นไม่มีดังเดิม เชื้อแบคทีเรียชนิดดีถูกทำลายไปด้วยจึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อเกิดขึ้นได้
  6. ปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะ เมื่อระดับเอสโตรเจนลดลงเนื้อเยื่อบริเวณเยื่อบุท่อปัสสาวะบางลง ความแข็งแรงของกระเพาะปัสสาวะจึงลดลงตามไปด้วย ผู้หญิงวัยทองจึงมักมีอาการปัสสาวะแล้วแสบ บางรายกลั้นปัสสาวะไม่ได้ในเวลาไอ จามหรือตอนยกของหนัก ทำให้มีปัสสาวะเล็ดลอดออกมา
  7. ผิวพรรณเหี่ยวย่นเกิดริ้วรอย เนื่องจากการสร้างสารคอลลาเจนลดลง ผิวหนังจึงแห้งหยาบกร้าน สูญเสียความชุ่มชื้น ไม่เต่งตึงเปล่งปลั่งดังเดิม
  8. การเจริญพันธุ์เสื่อมลง เพราะช่วงเวลาของการตกไข่เริ่มไม่มีความแน่นอน แต่ก็ยังสามารถตั้งครรภ์ได้จนกว่าประจำเดือนจะหยุดอย่างถาวรเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีเต็ม
  9. โรคที่มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยทอง ได้แก่ โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและโรคมะเร็ง เป็นต้น ดังนั้น เพื่อการรับมือป้องกันเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงควรหมั่นศึกษาหาข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพและขอคำปรึกษาจากทีมสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

คำแนะนำด้านอาหารสำหรับสตรีเพื่อรับมือกับอาการวัยทอง

สตรีที่ใส่ใจสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ ควรตระหนักและปรับตัวด้านอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับและผ่อนคลายความเครียดอยู่เสมอ เพื่อเตรียมภาวะสุขภาพให้แข็งแรงตั้งแต่เนิ่น ๆ ไว้รับมือกับอาการวัยทองที่เราไม่อาจรู้ได้ว่ามันจะมาเยือนเราวันไหน ทีมแพทย์มีดีคลินิกให้คำแนะนำด้านอาหารไว้ดังนี้

  1. รับประทานอาหารให้หลากหลาย ย่อยง่ายและมีกากใยอาหารสูง เน้นพืชผักผลไม้ ปลาทะเล ไข่ กล้วย ธัญพืชและถั่วต่าง ๆ เป็นประจำ เพื่อได้รับฮอร์โมนไฟโตรเอสโตรเจนจากแหล่งอาหารธรรมชาติ
  2. ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง หลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์และไขมันทรานส์ เช่น เนยขาว โดนัท มาร์การีนและมันฝรั่งทอด เป็นต้น ควรเลือกใช้น้ำมันที่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง ได้แก่ น้ำมันรำข้าว น้ำมันงาและน้ำมันมะกอก
  3. เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอรี่และเมล็ดธัญพืชเป็นประจำมากขึ้น ลดปริมาณข้าวขาว แป้งและน้ำตาลลง
  4. เน้นรับประทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม วิตามินและแร่ธาตุเช่น นมหรือโยเกิร์ตไขมันต่ำ ผลไม้ตระกูลเบอรี่ ผักใบเขียว บร๊อคโคลี่ ดอกกระหล่ำ หัวไชเท้า เป็นต้น หากไม่แน่ใจว่าได้รับหลากหลายและเพียงพอ ควรรับวิตามินเสริม
  5. ลดอาหารเค็มและดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
  6. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะสม หากอ้วนควรลดน้ำหนัก
  7. หลีกเลี่ยงชา กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเพราะจะรบกวนการนอนหลับได้
  8. งดสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ สารเสพติด หรือสารทำลายสุขภาพทุกชนิด เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเสื่อมสภาพและเข้าสู่ภาวะวัยทองได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

คำแนะนำวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อได้รับผลกระทบจากอาการวัยทอง

อาการร้อนวูบวาบ

  • สังเกตและจดจำสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบและหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่หรือการสัมผัสกับอากาศที่ร้อนมาก
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารร้อน เครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นให้เส้นเลือดขยายตัว เช่น คาเฟอีน และแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารที่มีวิตามินอี ซี บีคอมเพล็กซ์ รวมถึงแหล่งอาหารที่เสริมการทำงานของสารเหล่านี้ เช่น แร่ธาตุแมกนีเซียม เหล็ก แคลเซียม
  • ผ่อนคลายจิตใจและหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดมีผลทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น
  • เติมเต็มวิตามิน แร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อปรับสมดุลการเผาผลาญพลังงานและสมดุลกรดด่างภายในร่างกาย

อาการช่องคลอดแห้งและปัสสาวะบ่อย

  • ใช้สารหล่อลื่นที่ปลอด ครีมเอสโตรเจนทาเพื่อกระตุ้นให้เลือดมาหล่อเลี้ยงช่องคลอดมากขึ้น
  • ผ่อนคลายความตึงเครียดขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยกระตุ้นสภาวะการไหลเวียนเลือดที่ดีในช่องคลอด และทำให้ช่องคลอดยืดหยุ่นมากขึ้น

อาการนอนไม่หลับและอารมณ์แปรปรวน

  • ปฏิบัติกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การพักผ่อนหย่อนใจ การทำสมาธิหรือสวดมนต์ไหว้พระ ทำจิตใจให้สงบและแจ่มใสอยู่เสมอ
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในการนอนหลับหรือการเติมสมดุลวิตามินบางอย่างเพื่อช่วยในการผ่อนคลายและส่งเสริมการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาใช้ยาตามความเหมาะสม

ภาวะกระดูกพรุน

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการทำงานหนักมากเกินไป
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินดี อาจรับประทานวิตามินเสริมได้ หากเตรียมการตั้งแต่เนิ่น ๆ จะป้องกันปัญหานี้ได้ดี
  • การใช้ฮอร์โมนเสริมตามความจำเป็นภายใต้คำปรึกษาของแพทย์ แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง

หากสตรีที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือแม้แต่สตรีที่อายุน้อยกว่านี้ให้ความสําคัญและสามารถปฏิบัติตัวได้ดีอย่างสม่ำเสมอ อาการวัยทองจะเบาบางลงได้มากหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ การมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนเมื่อแก่ตัวไปก็จะยังคงเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและรักความภาคภูมิใจและความสุขในชีวิตไปได้อีกยาวนาน แม้เมื่อใกล้สิ้นอายุขัยก็เป็นภาระแก่ลูกหลานในช่วงเวลาสั้นที่สุด

สำหรับสตรีที่เริ่มปรากฏอาการความไม่สุขสบายต่าง ๆ สามารถขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาขอรับการบำบัดอาการวัยทองด้วยวิธีการการปรับสมดุลฮอร์โมน วิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระและสมดุลสารสื่อประสาท ซึ่งเป็นการผสมผสานนวัตกรรมการแพทย์ชะลอวัยและศาสตร์ป้องกันก่อนป่วย เน้นสร้างสุขภาพก่อนเกิดอาการ ลดความรุนแรงของอาการและหยุดอาการอย่างได้ผล


สุขภาพที่ออกแบบได้คือภาระกิจของเรา

ฝากสุขภาพของคุณไว้ที่นี่ @midiclinic มีดีคลินิก

Related Posts